เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [10. โกสัมพิกขันธกะ] 271. โกสัมพิกวิวาทกถา
ต่อมา ภิกษุผู้ลงอุกเขปนียกรรมอีกรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่
ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ภิกษุรูปนั้นผู้นั่งแล้ว ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกภิกษุผู้ประพฤติตาม
ภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมนั้น ทำอุโบสถ ทำสังฆกรรมภายในสีมานั้นเอง ส่วน
พวกข้าพระองค์ซึ่งเป็นผู้ลงอุกเขปนียกรรมกลับต้องไปทำอุโบสถทำสังฆกรรมนอกสีมา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ถ้าพวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ถูกลง
อุกเขปนียกรรมนั้นจะทำอุโบสถ ทำสังฆกรรมภายในสีมานั้น กรรมเหล่านั้นของ
ภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่เสียหาย ควรแก่ฐานะตามญัตติและอนุสาวนา
ที่เราบัญญัติไว้ ภิกษุ ถ้าภิกษุเหล่านั้นเองซึ่งเป็นผู้ลงอุกเขปนียกรรมจะทำอุโบสถ
สังฆกรรมภายในสีมานั้น กรรมเหล่านั้นแม้ของพวกเธอก็เป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่
เสียหาย ควรแก่ฐานะตามญัตติและอนุสาวนาที่เราบัญญัติไว้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุพวกนั้นเป็นนานาสังวาสจากพวกเธอ และพวกเธอก็เป็นนานาสังวาส
จากภิกษุพวกนั้น

นานาสังวาสกภูมิและสมานสังวาสกภูมิ
ภิกษุ นานาสังวาสกภูมิมี 2 อย่างนี้ คือ
1. ภิกษุทำตนให้เป็นนานาสังวาสด้วยตนเอง
2. สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงอุกเขปนียกรรมภิกษุรูปนั้น เพราะไม่เห็นว่า
เป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาป
ภิกษุ นานาสังวาสกภูมิมี 2 อย่างนี้แล
ภิกษุ สมานสังวาสกภูมิมี 2 อย่างนี้ คือ
1. ภิกษุทำตนให้เป็นสมานสังวาสด้วยตนเอง
2. สงฆ์พร้อมเพรียงกันรับภิกษุผู้ถูกลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่า
เป็นอาบัติ เพราะไม่ทำคืนอาบัติ หรือเพราะไม่สละทิฏฐิบาปเข้าหมู่
ภิกษุ สมานสังวาสกภูมิมี 2 อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :340 }